ครม.เห็นชอบ 13 มาตรการรับมือฤดูฝน เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำ

 ครม. มีมติรับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566  

 ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานช่วงฤดูฝนของประเทศไทย        ในปี 2565 โดยคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เป็นต้นไป ซึ่งปีนี้อาจเผชิญทั้งฝนทิ้งช่วงในเดือน มิ.ย.-ก.ค. และฝนตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 
  เพื่อเป็นการเตรียมรับมือลักษณะอากาศดังกล่าวได้มอบหมาย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์และจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ซึ่งประกอบด้วย 13 มาตรการ ดังนี้
 
·   มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป) โดยประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในช่วงเดือนมีนาคม - ธันวาคม 2565 และ ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนน้อยกว่าค่าปกติ และฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2565 เพื่อให้หน่วยงานนำไปกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการในเชิงป้องกันล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง 
 
·      มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายในเดือนสิงหาคม 2565) โดยจัดทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำหลากและเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ1ในช่วงฤดูน้ำหลาก บริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน เช่น พื้นที่ทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย 
 
·      มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง และเขื่อนระบายน้ำ (ภายในเดือนเมษายน 2565) ติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำหรือเกณฑ์ควบคุม จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง ในช่วงภาวะวิกฤติ 
·      มาตรการที่ 4 ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) ตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ 
 
·   มาตรการที่ 5 ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) สำรวจและจัดทำแผนดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ และการปรับปรุงคูคลองเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว 
 
·      มาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) จัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องจักร เครื่องมือ/สารชีวภัณฑ์ ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช และดำเนินการขุดลอกคูคลอง ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนประชาชนในชุมชนช่วยกันจัดเก็บหรือกำจัดผักตบชวา 
 
·   มาตรการที่ 7 เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) เตรียมความพร้อมแผนป้องกัน แผนเผชิญเหตุ ความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักร พร้อมใช้งานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ฝนน้อยกว่าค่าปกติ ฝนทิ้งช่วง สำหรับให้ความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงฝนทิ้งช่วง 
 
·   มาตรการที่ 8 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ลดการสูญเสียน้ำโดยการปรับปรุงวิธีการส่งน้ำและซ่อมแซมระบบการส่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด 
 
·   มาตรการที่ 9 ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของคันกั้นน้ำ ทำนบ และพนังกั้นน้ำ และซ่อมแซม/ปรับปรุงให้มีสภาพดี 
 
·      มาตรการที่ 10 จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ (ภายในเดือนพฤษภาคม 2565) จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุระดับต่าง ๆ อย่างน้อยภาคละ 1 พื้นที่ 
 
·      มาตรการที่ 11 ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน) โดยให้บูรณาการการทำงานร่วมกับกลไกการทำงานของแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และตั้งศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าสำหรับเผชิญเหตุในพื้นที่ โดยใช้การจัดตั้ง “ศูนย์บัญชาการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าภาคใต้”  เป็นต้นแบบ
 
·      มาตรการที่ 12 การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เครือข่ายต่าง ๆ เช่น คณะกรรมการลุ่มน้ำ คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด  และประชาชน 
 
·      มาตรการที่ 13 ติดตาม ประเมินผล และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน) 
     ทั้งนี้ 13 มาตรการ เป็นการบูรณาการทำงานของทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมทั้งการวางแผน การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เช่น อาคารบังคับน้ำ ประตูระบายน้ำ แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา ขุดลอกคูคลอง  เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรียังกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัยด้วย
     ปรากฏการณ์น้ำท่วม ภัยจากธรรมชาติที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้        ซึ่งมาตรการการรับมือเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยบรรเทาความเสียหายและผลกระทบจากภัยพิบัติ การเรียนรู้อย่างเข้าใจและหาแนวทางรับมือได้ทันท่วงที อาทิ
 
บางระกำ โมเดล (มาตรการที่ 2) 
อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ถือเป็นหนึ่งพื้นที่พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เสมอ ซึ่งบางระกำ โมเดล เป็นหนึ่งในความสำเร็จจากความร่วมมือแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนโดยใช้การบริหารจัดการทุกมิติให้สอดคล้อง ทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกับน้ำได้โดยไม่เกิดผลกระทบ เช่น
การผันน้ำมาให้พื้นที่ที่ต้องรับน้ำ เพื่อให้เกษตรกรได้เพาะปลูกก่อนพื้นที่อื่น และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกไว้รองรับน้ำในช่วงน้ำหลาก โดยระหว่างนี้ก็มีการส่งเสริมอาชีพให้คนในพื้นที่มีรายได้ เป็นต้น
 
การกำจัด “ผักตบชวา” (มาตรการที่ 6)
     ผักตบชวา เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม เพราะเมื่อไหร่ที่ผักตบชวาอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดใหญ่ จะทำให้การไหลของน้ำช้าลงกว่าปกติ ซึ่งพวกกอผักตบที่ลอยตามน้ำก็มักจะลอยไปกองรวมกันที่ใต้สะพานและประตูระบายน้ำ ทำให้ขวางทางไหลของน้ำ ดังนั้นเมื่อฝนตกหนักหรือมีน้ำหลากก็จะทำให้น้ำระบายไม่ทัน จนทำให้น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำได้ 
     รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องของแนวทางในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชให้เป็นรูปธรรม ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อเปิดทางน้ำ ให้การสัญจรสะดวก และป้องกันน้ำท่วมสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรและบ้านเรือนของประชาชนเช่นกัน 
 
การสำรวจความมั่นคงปลอดภัยของคัน/พนังกั้นน้ำ (มาตรการที่ 9)
ก่อนเข้าสู่ฤดูน้ำหลากในพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาพนังกั้นน้ำพังเสียงหายจนเกิดมวลน้ำทะลักเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือ สำรวจความมั่นคงของพนังกั้นน้ำอย่างไร เช่น จ.สุโขทัย จ.สิงห์บุรี              จ.สกลนคร จ.มหาสารคาม จ.ร้อยเอ็ด
แนวทางการสื่อสาร
·   สร้างการรับรู้ในสิ่งที่ภาครัฐเตรียมการ โดยหยิบยกบางมาตรการจาก 13 ข้อมาเชื่อมโยงให้เห็นว่าในพื้นที่มีการเตรียมการหรือดำเนินการอย่างไร 
·   อาจยกให้เห็นจุดแข็ง/จุดอ่อนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่  เช่น บางพื้นที่มีจุดเด่นที่การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง แล้วมีการแจ้งเตือนประชาชนก่อนล่วงหน้า มีการบริหารจัดการ ประชาชนปรับตัว และได้ผล ก็นำความสำเร็จนั้นมาขยายผล หรือบางพื้นที่มีความเสี่ยงเรื่องพนังกั้นน้ำ         เคยทะลักเข้าท่วมตัวเมือง ปีนี้มีการไปตรวจสอบความแข็งแรงของจุดเสี่ยงต่าง ๆ ก็สามารถขยายผลให้เกิดการรับรู้ในพื้นที่ของตนเองได้ตามความเหมาะสม
·      ทั้ง 13 มาตรการเป็นการมองไปข้างหน้า เตรียมการก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อการแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที ลดผลกระทบที่เกิดขึ้น มีการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ หรือการเตรียมการพื้นที่รองรับการอพยพ สื่อให้เห็นว่า ภาครัฐได้เตรียมรับมืออย่างเป็นระบบ

จินดาพร คล้ายคลึง รายงาน


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar