เรื่องควรรู้ ปลดล็อกกัญชา-กัญชง พ้นยาเสพติด มีผล 9 มิ.ย.

เรื่องควรรู้ ปลดล็อกกัญชา-กัญชง พ้นยาเสพติด มีผล 9 มิ.ย.
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 พ.ศ.2565 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.2565  เป็นต้นไป มีผลให้ “กัญชา” และ “กัญชง” พ้นจากการเป็นยาเสพติด ไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ยกเว้น “สารสกัด” จาก กัญชา-กัญชง ที่มีสาร THC (เป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท) เกิน 0.2% ที่ยังเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

ที่มาประกาศปลดล็อกกัญชา-กัญชง พ้นยาเสพติด
กระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดปลดล็อกให้พืชกัญชาและพืชกัญชง พ้นจากความเป็นยาเสพติด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการรักษาตั้งแต่ระดับครัวเรือน พร้อมกับสนับสนุนให้กัญชา-กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่ยังคงมีการควบคุมการผลิตสารสกัดที่มีคุณภาพมาตรฐานและมีมาตรการป้องกันการนำไปใช้ในทางที่ผิด
ต่อมาคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้จัดทำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งจะปลดล็อกทุกส่วนกัญชา-กัญชง ออกจากความเป็นยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง ยกเว้นสารสกัดของกัญชาที่มีค่า THC เกิน 0.2% จะยังถือว่าเป็นสารเสพติด จะมีการควบคุม ทำได้เฉพาะที่ได้รับอนุญาต หลังจากนั้นประกาศนี้ถูกลงนามโดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล และถูกประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 9 ก.พ.2565 ให้มีผลบังคับใช้จากนั้น 120 วัน ซึ่งก็คือวันที่ 9 มิ.ย.2565 

หลังประกาศปลดล็อก สามารถใช้ประโยชน์จากกัญชาได้อย่างไร?
- ประชาชนสามารถปลูกกัญชา-กัญชง ภายในบริเวณบ้านเรือน เพื่อประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพได้ จะปลูกกี่ต้นก็ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงแต่จดแจ้งผ่านทางเว็ปไซต์และแอปพลิเคชัน ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ชื่อว่า “ปลูกกัญ”
- ปลูกในเชิงพาณิชย์หรือปลูกเพื่อขายได้ แต่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขก่อนปลูก ผ่านทางเว็ปไซต์และแอปฯ  “ปลูกกัญ”
- การนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชา กัญชง ส่วนอื่นๆ ของพืช เช่น ช่อดอก ใบ กิ่ง ก้าน ไม่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด แต่ต้องขออนุญาตนำเข้าตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ. 2518  และ พ.ร.บ.กักพืช พ.ศ. 2507 และหากเป็นสารสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติ
- การนำส่วนต่างๆของกัญชาไปใช้ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆสามารถทำได้ แต่ต้องขออนุญาตตามกฎหมายและดำเนินการตามคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์นั้นๆ เช่น อาหารต้องทำตาม พ.ร.บ.อาหาร  ยาต้องทำตามพ.ร.บ.ยา และเครื่องสำอางต้องทำตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ถึงจะเป็นผลิตภัณฑ์กัญชา- กัญชงที่ถูกกฎหมาย
- การสูบกัญชา-กัญชง เพื่อผ่อนคลายเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิต สามารถทำได้ แต่ต้องสูบในบ้านเรือนของตัวเองย่างมิดชิด ไม่สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข ไม่เคยรณรงค์หรือแนะนำให้มีการสูบกัญชาเพื่อผ่อนคลายใดๆ เพราะการนำกัญชามาสูบไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่กลับเป็นโทษด้วย 

* สิ่งที่ทำไม่ได้หรือไม่ควรทำ *
- ไม่สามารถใช้สารสกัดจากพืชกัญชา กัญชงที่มีสาร THC เกิน 0.2% เพราะยังเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อยู่
- ไม่สามารถสูบกัญชาแบบม้วนได้ เพราะไม่มีอากรแสตมป์ของกรมสรรพสามิตติดไว้อย่างถูกต้องเหมือนบุหรี่ ว่าง่ายๆ คือไม่สามารถนำเอากัญชาไปมวนแล้วบรรจุซองแบบบุหรี่ได้ เพราะกรมสรรพสามิต ยังไม่อนุญาต จึงไม่มีการจำหน่ายกัญชาแบบมวนและทำให้ไม่สามารถสูบกัญชาแบบมวนได้ย่างถูกต้องตามไปด้วย
- สูบกัญชาในที่สาธารณะไม่ได้ เนื่องจากกลิ่นและควันจะสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ยังจะออกประกาศกำหนดให้กลิ่นและควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใดในทำนองเดียวกันเป็นเหตุรำคาญ มาใช้ควบคุมการสูบกัญชาด้วย ดังนั้นการสูบกัญชา - กัญชง ในที่สาธารณะจะขัดต่อประกาศนี้ จึงเป็นสิ่งไม่ควรทำอย่างยิ่ง
- ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. ... ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น สามารถเข้าควบคุมเหตุรำคาญ  ด้วยการอาศัยอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535  โดยให้ออกคำสั่งทางการปกครองแจ้งเตือนผู้สูบกัญชา-กัญชง ที่สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น แต่หากผู้ได้รับการแจ้งเตือนไม่แก้ไขหรือยังสูบกัญชา-กัญชง สร้างความรำคาญแก่ผู้อื่นอยู่ อีก ก็ให้เจ้าหน้าที่ ส่วนท้องถิ่นส่งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการ โดยอัตราโทษกรณี ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวข้างต้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25, 000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  ทั้งนี้ร่างประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้

ข้อควรระวังในการใช้กัญชา-กัญชง
สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยได้แสดงความห่วงใยและขอให้มีการจำกัดการเข้าถึงกัญชาของกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทางจิตและอาจมีผลเชิงลบต่อสุขภาพ โดยมีข้อมูลทางการแพทย์ที่ควรสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนดังนี้
     1. เด็กและเยาวชนมีโอกาสเสพติดกัญชามากกว่าผู้ใหญ่
     2. กัญชาส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของสมอง ระดับสติปัญญา  การคิดแบบมีเหตุผล และการยับยั้งชั่งใจทั้งขณะเสพ และหลังเสพ และต่อลูกในครรภ์ของมารดาที่ใช้
     3. การเสพติดกัญชาส่งผลให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น
     4. กัญชาเป็นเหตุที่สามารถทำให้เกิดโรคจิต และจิตเภทได้

* เตรียมตั้งกรรมการควบคุมการใช้กัญชา-กัญชง รอกฎหมายใหม่ มีผลบังคับใช้ *
ขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการปฏิบัติตัวของประชาชนและการบังคับใช้กฎหมาย หลังกัญชา-กัญชง ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป โดยเฉพาะการปลูก เสพ สูบ สามารถทำได้โดยถูกกฎหมาย แต่ไม่ใช่ทำได้เสรี 100% เพราะพิษภัยของกัญชายังคงมีอยู่ และพฤติกรรมในบางเรื่องที่รัฐจำเป็นต้องควบคุม อาทิ การสูบต้องไม่ก่อให้เกิดความรำคาญกับผู้อื่น, สูบแล้วขับรถอาจจะผิดกฎหมาย เหมือนดื่มแล้วขับ, การใช้ช่อดอกมีสารเสพติดต้องระมัดระวังให้เป็นไปตามกฎหมาย, ห้ามจำหน่ายแก่เด็ก, การผลิตเพื่อจำหน่ายต้องเสียภาษี เป็นต้น โดยระหว่างรอกฎหมายใหม่ควบคุมกัญชา-กัญชง มีผลบังคับใช้ รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการบูรณาการพืชกัญชา-กัญชง ที่มีฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการ เช่น ตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นักวิชาการ และภาคประชาชน เพื่อกำกับดูแลในช่วงรอยตอนนี้ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

* ร่างกฎหมายใหม่ 2 ฉบับ ควบคุมกัญชา - กัญชง เข้าสภาฯ วันที่  8 มิ.ย.65 *
สำหรับกฎหมายใหม่ที่จะมาควบคุมการใช้ การบริโภค การจำหน่ายกัญชา-กัญชง หมายถึง ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....มีอยู่ 2 ฉบับ  คือ ร่างของพรรคภูมิใจไทย และร่างของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่นายกรัฐมนตรีรับรองก่อนเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยทั้ง 2 ร่าง จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ จากนั้นทางสภาฯ จะมีการพิจารณาไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต่อไป

ผลกระทบที่เกี่ยวข้องจากการปลดล็อกกัญชา-กัญชง
นอกจากสิ่งที่ทำได้และทำไม่ได้ รวมทั้งเรื่องกฎหมายใหม่ที่จะออกมาควบคุมต่อไปแล้ว ยังมีผลกระทบอื่น ๆ ที่จะเกิดตามมาจากการปลดล็อกกัญชา-กัญชง ในครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะเรื่องของคดีความเกี่ยวกับกัญชา ส่งผลให้คดีเกี่ยวกับกัญชาที่ถึงที่สุดเเล้วเเต่ตัวจำเลยอยู่ระหว่างกักขังเเทนค่าปรับ คดีก็จะถูกยกเลิกเเละจะปล่อยตัวผู้ต้องขัง เพราะเมื่อกัญชา-กัญชง ไม่ใช่ยาเสพติดแล้วก็มีผลย้อนหลังให้คดีเกี่ยวกับกัญชาไม่ใช่คดียาเสพติดตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อกรณีที่ตัดสินจำคุกไปแล้วเช่นกัน โดยทางศาลจะดำเนินการตรวจสอบเเละออกหมายปล่อยหากไม่มีคดีอื่นเกี่ยวข้อง ส่วนคดีที่รอนัดฟังคำพิพากษาที่จำเลยได้อยู่ระหว่างได้รับการประกันตัว ก็จะยกฟ้อง เเต่ศาลจะยังกำหนดนัดมาฟังคำพิพากษาตามเดิม เพราะถือว่าตัวอยู่ข้างนอกเรือนจำ โดยทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 9 มิ.ย. 2565 วันเดียวกับประกาศปลดล็อกกัญชา-กัญชง พ้นยาเสพติด เริ่มมีผลบังคับใช้ แยกเป็นดังนี้
- ผู้ต้องหาคดีกัญชา 4,227 รายจะถูกปล่อยตัว
- คดีความระหว่างการพิจารณา 7,488 คดี จะถูกจำหน่ายออกจากศาล ส่วนคดีอื่น ๆ เกี่ยวกับกัญชาจะไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล
- ของกลาง เงิน 110 ล้านบาท กัญชาน้ำหนักกว่า 16, 030 กิโลกรัม ต้องส่งคืนเจ้าของ (เผาทำลายไม่ได้) และเมื่อส่งคืน เจ้าของอาจนำไปขายออกสู่ตลาด อาจ เกิดผลกระทบในทางใดทางหนึ่งตามมาได้

อย่างไรก็ตามวัตถุประสงค์สำคัญที่กระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อกกัญชาจากยาเสพติด คือ 
1. เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  
2. ให้เกิดเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่มเครื่องสำอาง สมุนไพรและอาหาร รวมถึงส่งเสริมงานวิจัยนวัตกรรม และ 
3. เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง
 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar