คำสั่งจังหวัดสุรินทร์ ที่ 200/2565

คำสั่งจังหวัดสุรินทร์ ที่ 200/2565
เรื่อง มาตรการการกักกันตัว สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และการดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565

ตามที่จังหวัดสุรินทร์ได้มีคำสั่ง ที่ 5434/2564 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2564 เรื่อง มาตรการการกักกันตัว สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และการดำเนินการตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 40) ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2564 และคำสั่งจังหวัดสุรินทร์ ที่ 109/2565 ลงวันที่ 6 มกราคม 2565 เรื่อง  มาตรการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)  นั้น

เนื่องจากนายกรัฐมนตรีได้ออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 และได้มีคำสั่งกำหนดพื้นที่สถานการณ์และมาตรการที่กำหนดขึ้นใหม่ ดังนั้น เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ของจังหวัดสุรินทร์ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 มาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ประกอบกับข้อ 2 , ข้อ 7 (1) (4) และข้อ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 , ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2564 และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 41) ลงวันที่ 8 มกราคม 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ ตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2565 จึงให้ยกเลิกคำสั่งจังหวัดสุรินทร์ ที่ 5434/2564 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2564 , คำสั่งจังหวัดสุรินทร์ ที่ 109/2565 ลงวันที่ 6 มกราคม 2565 และมีคำสั่ง ดังนี้ 

1. มาตรการการกักกันตัว สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ 
 1.1 ให้ทุกคนที่เดินทางมาจาก 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช ภูเก็ต ระยอง สมุทรปราการ อุดรธานี และจังหวัดอุบลราชธานี ที่เข้ามาในจังหวัดสุรินทร์ ต้องกักกันตัว 14 วัน และบันทึกรายละเอียดการเดินทางแล้วให้นำส่งแบบรายงานไปยังเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ภายในวันที่ได้รับรายงานตัว หากได้รับรายงานตัวในช่วงเวลากลางคืนให้นำส่งแบบรายงานในวันรุ่งขึ้นพร้อมติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะด้วย ยกเว้น 
 - ผู้ที่มีผลการตรวจหาเชื้อโรคโควิด – 19 (ผลการตรวจ ATK หรือ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง) มาแสดง
 - ผู้ที่เดินทางมาจากศูนย์กักกันตัวของรัฐ (State Quarantine)
 - ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 อย่างน้อยเข็มที่ 2 แล้ว 
ไม่ต้องกักกันตัว 14 วัน แต่ต้องดำเนินการตามข้อ 1.3 โดยเคร่งครัด  
 1.2 การกักกันตัว 14 วัน ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน หรือเจ้าพนักงานโรคติดต่อ นำตัวบุคคลตามข้อ 1.1 เข้ากักกันตัวในที่พักอาศัย หรือสถานที่ที่ทางอำเภอ หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ประกาศกำหนด โดยห้ามออกนอกพื้นที่กักกันตัว และหากมีอาการป่วยต้องแจ้งกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน ทันที ทั้งนี้ หากกักกันตัวครบ 14 วันแล้วขอให้เฝ้าสังเกตอาการ ถ้าพบว่า มีไข้ ไอ และหอบ ให้มาขอรับบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล/หน่วยสาธารณสุข ใกล้บ้าน และกรณีบุคคลที่สัมผัสกับบุคคลที่มีความเสี่ยงหรือผู้ติดเชื้อให้กักกันตัว 14 วัน และเฝ้าสังเกตอาการ พร้อมกับให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อขอรับการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด- 19) ได้ทันที 
 1.3 ให้ทุกคนที่เดินทางมาจากจังหวัด/พื้นที่ไม่ใช่ตามข้อ 1.1 เข้ามาในจังหวัดสุรินทร์ ต้องรายงานตัวกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือผู้ใหญ่บ้าน/ กำนัน ที่รับผิดชอบพื้นที่มีผู้นั้นมาพัก ภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เดินทางมาถึงที่พัก ให้ผู้รับรายงานตัวให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว รวมทั้งการสังเกตอาการ โดยคำนึงถึงหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ทำความสะอาดพื้นผิวและอุปกรณ์ที่มีการสัมผัสบ่อย หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบุคคลอื่น ล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล และใช้แพลตฟอร์มไทยชนะในการเข้า-ออกสถานที่สาธารณะพร้อมติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ หากพบว่าเป็นผู้มีความเสี่ยงต่อการติดโรคโควิด- 19 ให้ประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบพื้นที่ออกคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวกักกันตัว ณ สถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้คำแนะนำ ติดตาม เฝ้าสังเกตอาการ
 1.4 สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อ หรือเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกับผู้ป่วย หรือผู้ที่มีอาการไข้ (อุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส) ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้กักกันตัว 14 วัน ตามข้อ 1.2 และรายงานตัวกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ หรือโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ทันที เพื่อเข้าตรวจคัดกรองโรคต่อไป 

2. ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าร้อยคน เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากนายอำเภอในพื้นที่ 
 ทั้งนี้ ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุม ณ ที่ใดๆในสถานที่แออัด หรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในพื้นที่  

3. กิจกรรมที่ได้รับการยกเว้น กิจกรรมหรือการรวมกลุ่มของบุคคลดังต่อไปนี้ สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ 2. แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด 
 3.1 กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชนเพื่อเดินทางไปหรือออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว สถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก 
 3.2 กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลหรือการสาธารณสุข 
 3.3 กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออำนวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน
 3.4 การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทำงาน การประชุม หรือการออกกำลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกำหนด
 3.5 กิจกรรมที่ดำเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นกิจกรรมที่จัดโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ 
 พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเข้าไปกำกับตรวจสอบหรือให้คำแนะนำการดำเนินกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลได้ และหากพบว่าการจัดหรือการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตักเตือนหรือแนะนำเพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง หรืออาจสั่งให้ยุติการดำเนินกิจกรรมนั้นได้

 4. การจัดกิจกรรมทางสังคม ให้ประชาชนงดการจัดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานสังสรรค์ งานเลี้ยง หรืองานรื่นเริงในช่วงเวลานี้ เว้นแต่เป็นการจัดพิธีการตามประเพณีนิยม และมีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ และได้รับอนุญาตจากนายอำเภอในพื้นที่ โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด 

5. โรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท ให้สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใดๆ ได้ตามความเหมาะสมและความพร้อม โดยรูปแบบของการดำเนินการให้เป็นตามแนวทางการจัดระเบียบและระบบต่างๆ คำแนะนำของทางราชการ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงสาธารณสุข กำหนดด้วย  

6. ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านตามเวลาปกติ โดยห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้าน โดยมาตรการนี้ให้ใช้บังคับกับร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
 ยกเว้นพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวของจังหวัดสุรินทร์ (อำเภอเมืองสุรินทร์ และอำเภอท่าตูม) อนุญาตให้มีการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ภายในร้านได้ ไม่เกินเวลา 21.00 น. ทั้งนี้ เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety and Heath Administration) ในระดับ SHA PLUS ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ผ่านการตรวจประเมินมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID - 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus) ของกระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยแล้วเท่านั้น  

7. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ตามเวลาปกติ แต่ให้ปิดให้บริการในส่วนที่เป็นสวนสนุกหรือสวนน้ำ ที่เป็นห้องปรับอากาศหรือพื้นที่ปิด 

8. โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่จัดนิทรรศการ หรือสถานที่ที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดให้บริการได้ โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กรที่กำหนด เช่น การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานไม่เกิน ๑,๐๐๐ คน การให้ผู้เข้าร่วมงานสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา การเว้นระยะห่างไม่ให้แออัด รวมทั้งดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กำหนดอย่างเคร่งครัด 

9. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม   ร้านทำเล็บ ร้านสัก สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ สปา หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย สามารถเปิดดำเนินการได้ไม่เกินเวลา 24.00 นาฬิกา 

10. สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬาหรือกิจกรรมทางน้ำ เพื่อการสันทนาการ สระว่ายน้ำสาธารณะ สถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ในพื้นที่โล่ง สถานกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทเทได้ดี รวมถึงสถานที่ออกกำลังกาย ยิมหรือฟิตเนสที่เป็นห้องปรับอากาศ ให้เปิดบริการได้ตามปกติ ทั้งนี้ การใช้สถานที่หรือสนามกีฬาเพื่อการจัดแข่งขันกีฬา กรณีประเภทกีฬาในร่ม สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ 50  ของความจุสนาม หากเป็นการจัดแข่งขันประเภทกีฬากลางแจ้ง สามารถจัดการแข่งขันได้โดยให้มีผู้ชมในสนามไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของความจุสนาม และต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด  

11. ให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำการตรวจหรือสุ่มตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในทางเดินหายใจแบบ ATK ให้กับเจ้าหน้าที่/พนักงานในสังกัด โดยเฉพาะรายที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อเจ้าหน้าที่เริ่มเข้าปฏิบัติงาน โดยประสานการปฏิบัติกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ (รพ.สต.) หรือโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการ Covid Free Setting อย่างเคร่งครัด  

12. การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work From Home) ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งได้ตามความเหมาะสม โดยมิให้มีผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน

 13. ปิดสถานที่ในพื้นที่เป็นการชั่วคราวต่อไป ดังนี้ สถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอาบอบนวด และสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2558
  สำหรับสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน หากผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่ข้างต้นได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว และประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าว เพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม จะต้องได้รับการตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กำหนด และต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสุรินทร์ ก่อนเปิดให้บริการได้ ภายใต้การกำกับติดตามของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด 

14. การดำเนินการตามข้อ 6. และข้อ 13. มอบหมายให้ ที่ทำการปกครองจังหวัดสุรินทร์ , ตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ , สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ , การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุรินทร์ และอำเภอทุกอำเภอ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ และดำเนินการสอดส่อง เฝ้าระวัง และติดตามการดำเนินมาตรการของผู้ประกอบการและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบสถานที่และการจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคที่รัฐบาลกำหนด หากผู้ร่วมงานหรือประชาชนพบว่า การจัดงานหรือกิจกรรมต่างๆที่ได้ผ่อนคลายให้สามารถดำเนินการได้นี้ มิได้ปฏิบัติตามหรือย่อหย่อนการดำเนินการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่ทางราชการกำหนด ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการระบาดแบบกลุ่มก้อน สามารถแจ้งข้อมูลเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตักเตือน และให้คำแนะนำเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมายต่อไปได้ 

15. ข้อปฏิบัติในการสวมหน้าหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกต้องหรือถูกวิธีทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก (ทั้งนี้ คำสั่งจังหวัดสุรินทร์ ที่ 1650/2564 ลงวันที่ 28 เมษายน 2564 เรื่อง ให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกต้องหรือถูกวิธีทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก ยังมีผลใช้บังคับต่อไป) 

16. ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สร้างการรับรู้ให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T-A อย่างเข้มข้น ได้แก่ D : Distancing การเว้นระยะห่างระหว่างกัน ไม่พบปะหรือไปยังสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก  , M : Mask Wearing สวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี , H : Hand Washing หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ , T : Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายสม่ำเสมอ ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ , T : Testing ตรวจหาเชื้อโควิด 19 และ A : Application ติดตั้งและใช้แอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” ก่อนเข้า-ออกสถานที่ทุกครั้ง 

17. ขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่/เจ้าพนักงานในหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 อย่างน้อย 2 เข็ม 
ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ    พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ       พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง การดำเนินการตามคำสั่งนี้เป็นไปตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จึงไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ตามมาตรา 16 ของพระราชกำหนดดังกล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

สั่ง  ณ  วันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2565

 


ไฟล์เอกสารประกอบ
รายละเอียดคำสั่งจังหวัดสุรินทร์ ที่ 200/2565 |

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar